ค้นหาสินค้าในเว็บ
ประเภทสินค้า
สินค้าแนะนำ
สินค้ายอดนิยม
สินค้ามาใหม่ล่าสุด


(Root) 2009610_48145.jpg

หนังตะลุง ศิลปพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ ชาวใต้นับตั้งแต่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง ตลอดจนสองฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ ล้วนถือว่าหนังตะลุง เป็นมหรสพประจำท้องถิ่นที่มีแสดงให้ชมกันอยู่เป็นประจำตามงานเฉลิมฉลอง งานสมโภช หรืองานวัดต่างๆ

หนังตะลุงเข้าสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อใด ยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ ตามคำบอกเล่าซึ่งนาย หนังตะลุงรุ่นเก่าถ่ายทอดไว้เป็นบทไหว้ครูหนังต่างกล่าวว่าคงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 17 เพราะหนังมีมาตั้งแต่ สมัยศรีวิชัย รูปแบบการเล่นที่เล่าต่อๆ กันมาปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า เดิมหนัง เล่นบนพื้นดิน ที่ลานเตียนโล่งแจ้ง ไม่ยกโรงขึงจออย่างปัจจุบัน เล่นทั้งกลางวันและกลางคืน หนังที่เล่นกลางคืนจะใช้วิธีสุมไฟหรือใช้ไต้ขนาดใหญ่ เรียกว่า "ไต้หน้าช้าง" เพื่อให้แสงสว่าง รูปหนังจะแกะด้วย หนังวัว หนังควาย ขนาดรูปใหญ่สูงแค่อก ใช้เชือกร้อยตรงส่วนหัวของตัวหนังไว้สำหรับจับถือ

ต่อมาหนังแขก (หนังชวา) เข้ามาเล่นในภาคใต้และเลยขึ้นไปถึงกรุงเทพฯ หนังแขกเป็นหนังตัวเล็ก เล่นบนโรง ไม่ลำบากยุ่งยากอย่างที่เคยเล่นกันมา จึงมีผู้คิดประยุกต์ให้เข้ากับหนังแบบเดิม โดยปลูกโรงยกพื้นสูง ใช้เสา 4 เสา ใช้ผ้าขาวเป็นจอสำหรับเชิดรูป ดูเพียงเงาของรูปซึ่งเกิดจากไฟส่องด้านหลัง และฟังคำพากย์ ไม่ต้องดูลีลาท่าทางของผู้เชิด ตามตำนานระบุว่า ผู้ที่เป็นต้นคิดหนังแบบนี้คือ นายนุ้ย เป็นชาวบ้านควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง หรืออาจเป็นชาวบ้านดอนควน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง หนังที่คิดขึ้นจึงได้ชื่อว่า "หนังควน" ตามถิ่นกำเนิด หรืออาจเรียกตามสถานที่เล่นโดยต้องเลือกที่เนิน ซึ่งภาคใต้เรียกว่า "ควน" หนังจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นแถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นไปจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯ จึงเรียก "หนังพัทลุง" แล้วเสียงเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง" นอกจากนี้คำว่า "หนังตะลุง" ยังมีที่มาจากเสียงตีกลองหนังดัง "ตะลุง ตะลุง ตุงตุง" เพราะแต่เดิมเป็นธรรมเนียมของพวกเล่นหนัง เมื่อเดินทางไปถึงบ้านคนรับงาน จะเข้าไปในรั้วบ้านก่อน เจ้าของบ้านออกมาต้อนรับไม่ได้ จึงต้องตีกลองเรียกเจ้าของบ้านออกมา


          
         ช่างแกะหนังลุงมีความสำคัญ เพราะได้ช่วยบันทึกของการเปลี่ยนแปลงให้สังคมของภาคใต้อย่างชัดเจน เช่น การแต่งกาย ทรงผม อาวุธประจำกาย เป็นต้น ในสมัยโบราณหนังตะลุงของไทยแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตัวหนังทั้งที่เป็นมนุษย์ และยักษ์ทรงเครื่อง โบราณสวมมงกุฎเหยียบนาค มีอาวุธประจำกายคือ พระขรรค์และคันศร ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูต่อมา เมื่อหนังตะลุงเลิกแสดงรามเกียรติ์ ภาพหนังตะลุงก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เจ้าเมืองนางเมือง (ราชา ราชินี) สวมมงกุฎไม่เหยียดนาค ส่วนพระเอกนางเอก ไว้จุกเพิ่มขึ้น


รูปหนังตะลุงรุ่งเก่า อายุราว 200 ปี

          
         การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตหนังตะลุง ได้เริ่มมีขึ้นในช่วง พ.ศ.2503 กล่าวคือการผลิตหนังตะลุงสมัยโบราณ ช่างแกะหนังตัดรูปให้นายหนังนำไปแสดงเพียงอย่างเดียว ช่างแกะหนังตะลุงของตัวเอง โดยไม่มีการลอกเลียนกันเหมือนในปัจจุบันนี้
         ตั้งแต่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมามีชาวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น ภาพหนังตะลุงกลายเป็นสินค้าของภาคใต้และประเทศไทย ทำรายได้ให้ประเทศปีละรายพันร้อยล้าน ในขณะที่การแสดง หนังตะลุงซบเซาลงไป แต่การผลิตหนังตะลุงยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เห็นคุณค่าของตัวหนังตะลุง ได้นำมาประดับตกแต่งบ้านเรือน ช่างแกะหนังจึงมีมากขึ้น และปัจจุบันสามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีเช่นอาชีพอื่น

          
         ขั้นเตรียมหนัง หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี 2 อย่าง คือ หนังวัวและหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง ครั้นระบายสีและนำออกเชิดบนจอ (สำหรับหนังตะลุง) จะให้สีสันสวยงาม ดูโปร่ง ไม่มืดทึบ อีกอย่างหนึ่งหนังวัว หนังควายไม่บิดงอหรือพับง่ายๆ เมื่อออกเชิดจึงบังคับการเคลื่อนไหวให้ ตัวหนังแสดงอิริยาบถได้ดี และสมจริง สำหรับหนังสัตว์อื่นๆ เช่นหนังค่าง หนังอีเก้ง หนังหมี หนังเสือ ฯลฯ ก็ใช้แกะรูปหนังได้แต่หนังสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะทึบแสง ช่างจึงใช้แกะรูปที่ไม่ต้องการโชว์ลายแกะฉลุและสีสันของตัวหนัง เช่น รูปตลก และรูปกาก ทั้งหลาย การหมักจะใช้เวลา 3 - 4 วัน ให้กรดจากน้ำหมักกัดหนังให้ขาวและหนังนิ่มคืนสภาพเหมือนหนังสดๆ จากนั้นจึงนำหนังมาล้างเพื่อขูดขนออก วิธีฟอกหนังทั้งสองแบบ แบบที่หมักน้ำสับปะรดลงทุนสูงกว่า แต่สะดวกและรวดเร็ว เพราะวิธีนี้เนื้อเยื่อและขนจะหลุดออกจากหนังได้โดยง่าย
         การฟอกหนังในปัจจุบันสะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คือ ช่างจะแช่หนังที่ตากแห้งแล้วในน้ำส้มสายชูซึ่งผสมน้ำให้พอมีรสเปรี้ยวแช่ไว้ชั่วโมงเศษๆ หนังก็จะคืนตัวนิ่มอย่างหนังสดๆ จากนั้นจึงนำไปขูดขนออก การขูดขนต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีดอาจเฉือนหนังให้เกิดรอยตำหนิได้หรือไม่ก็ทำให้หนังหนาบางไม่เท่ากัน เวลาขูดหนังช่างอาจขูดบนแผ่นไม้หรืออาจใช้ไม้กลมรองแล้วขูดได้ แต่วิธีหลังนัยว่าสามารถขูดขนออกได้หมดจดกว่าเมื่อขูดหนังเรียบร้อยแล้วทั้งผืนจะล้างหนังด้วยน้ำสะอาดแล้วเอาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ ให้หนังค่อยๆ แห้งลงอย่างช้าๆ ช่างจะไม่เอาหนังผึ่งแดดจัดเพราะหนังจะแห้งและหดตัวเร็ว เกิดการบิดตัวโค้งงอไม่สวยงาม เมื่อหนังแห้งสนิทจึงแก้ออกจากกรอบ ตัดหนังรอบนอกซึ่งมีรอยตำหนิทิ้งก็จะได้หนังที่จะใช้แกะฉลุตามต้องการ


รูป การตากหนัง

         ปัจจุบันนี้ช่างบางคนมิได้ฟอกหนังใช้เอง แต่จะรับซื้อหนังที่ฟอกแล้วมาจากโรงงาน ทำให้งานแกะรูปหนังลดขั้นตอนไปได้ขั้นหนึ่ง แต่หนังที่ฟอกจากโรงงานจะมีลักษณะด้อยกว่าหนังที่ฟอกเองมาก คือ มีความบาง เนื้อหนังค่อนข้างยุ่ย ไม่คงทนบิดงอง่าย แชะค่อนข้างทึบแสง หนังประเภทนี้ช่างแกะหนังเรียกว่า "หนังผ่า" ด้วยเหตุที่หนังผ่ามีคุณภาพต่ำ จึงไม่นิยมใช้แกะรูปหนังสำหรับเชิด รูปหนังประเภทใช้ประดับตกแต่งที่ต้องลงสีหลายๆ สีจึงไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างทึบแสงดังกล่าวแล้ว หนังผ่าจะใช้รูปแกะรูปประดับตกแต่งที่ลงสีดำทั้งตัวเป็นส่วนใหญ่กับหนังด้านในเพียงด้านเดียวการแกะรูปหนังประเภทนี้มีวิธีเตรียมหนังต่างไปจากหนังที่ต้องขูดขนเล็กน้อย กล่าวคือ ในขั้นตอนการฟอกหนังช่างจะผสมน้ำยากันขนร่วงลงในน้ำส้มที่ฟอกหนังด้วย การตกแต่งหนังก็ทำเฉพาะด้านในเพียงด้านเดียว

         ขั้นร่างภาพ การร่างภาพเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการแกะรูปหนัง ช่างส่วนหนึ่งไม่สามารถร่างภาพได้ ทำหน้าที่เพียงเตรียมหนังแกะฉลุหรือลงสีเท่านั้น งานร่างภาพเป็นงานที่ประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ จินตนาการ ฝีมือ และทักษะประกอบกัน การทำรูปหนังเชิดไม่ค่อยมีปัญหาในการร่างภาพมากนัก เพระมีแบบให้เห็นอยู่มากมาย รูปที่แกะก็แยกเป็นตัวๆ มีขนาดไม่ใหญ่และใช้กนกงกงอนไม่มากมายอย่างหนังใหญ่ แต่ถ้าเป็นรูปจับและรูปหนังใหญ่แล้ว การร่างภาพเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมากโดยทั่วไปรูปจับและรูปหนังใหญ่มักเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ ช่างต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักรูปร่างลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละครต่างๆ เป็นอย่างดี เพราะเวลาร่างภาพต้องให้ลักษณะภาพถูกต้องตามลักษณะรูปร่างของตัวละครในรามเกียรติ์ ทั้งต้องร่างภาพให้ได้อารมณ์ตรงตามเหตุการณ์ของเรื่องและอุปนิสัยใจคอของตัวละครตัวนั้นๆ ในการร่างภาพดังกล่าวนี้ช่างต้องศึกษาวรรณคดีและที่สำคัญคือพยายามเก็บภาพเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จากที่มีผู้ทำไว้แล้วมาคิดเสริมเติมแต่งขึ้นอีกทีหนึ่ง
         ในการร่างภาพที่ไม่ซับซ้อนนัก ช่างนิยมใช้เหล็กปลายแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" ร่างภาพลงไปในแผ่นหนังเลยทีเดียว ที่ทำได้เช่นนี้เพราะรอยเหล็กจารที่ปรากฏบนแผ่นหนังสามารถลบได้ง่ายโดยใช้นิ้วมือแตะน้ำหรือน้ำลายลูบเพียงเบาๆ แต่สำหรับภาพที่ซับซ้อนช่างจะร่างภาพลงในกระดาษก่อน ครั้นได้ภาพลงตามต้องการแล้วจึงจารทับลงบนแผ่นหนัง หรือมิเช่นนั้นก็แกะฉลุภาพแล้ววางทาบบนแผ่นหนังแล้วพ่นสีทับ ก็จะได้ภาพบนแผ่นหนังตามต้องการ ช่างที่ทำหัตถกรรมแกะหนังเป็นอาชีพได้นำเอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการร่างแบบลงแผ่นหนัง นั่นคือเมื่อมีภาพตัวแบบที่สมบูรณ์แล้ว ก็จะนำภาพนั้นมาทำพิมพ์เขียวเพื่อใช้เป็นแบบในการแกะรูปหนังต่อไป วิธีดังกล่าวนี้ รูปแบบของภาพที่แกะจะออกมาเหมือนๆ กันสามารถสร้างงานได้รวดเร็วแต่ราคาต่ำกว่ารูปที่ร่างภาพขึ้นเฉพาะรูปนั้นๆ เพียงรูปเดียว เนื่องจากตัวหนังต้องมีลายกนกงกงอน ช่างบางคนจึงอาศัยการศึกษาเรื่องลายไทยจากตำราต่างๆ แล้วนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับรูปหนัง โดยคงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านเอาไว้วิธีประสมประสานเช่นนี้ ทำให้รูปหนังได้พัฒนาในส่วนละเอียดยิ่งๆ ขึ้น

         ขั้นแกะฉลุ เมื่อร่างภาพเสร็จก็ถึงขั้นแกะฉลุขั้นนี้ต้องใช้ความชำนาญและต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ดอกลายอ่อนงาม ช่วงจังหวะของดอกลายหรือกนกแต่ละตัวพอเหมาะพอดี ในการแกะฉลุ มีเครื่องมือที่สำคัญๆ ได้แก่ เขียงสำหรับรองแกะฉลุหนัง 2 อัน เป็นชนิดไม้เนื้อแข็งเนื้อเหนียว 1 อัน และไม้เนื้ออ่อนเนื้อเหนียว 1 อัน มีดขุด 2 เล่ม เป็นชนิดปลายแหลมเล็ก 1 เล่ม และปลายแหลมมน 1 เล่ม ตุ๊ดตู่หรือมุก 1 ชุด มีชื่อเรียกแต่ละอันตามลักษณะปากต่างๆกัน เช่น มุกกลม มุกเหลี่ยม มุกโค้ง มุกตา มุกดอก มุกวงรี และมุกปากแบน ค้อนตอกมุก 1 อัน และเทียนไขหรือสบู่สำหรับจิ้มปลายมีดขุดหรือปลายมุก 1 ก้อน


รูป การแกะ

         วิธีแกะ ถ้าแบบตอนใดเป็นกนกหรือตัวลายจะใช้มีดขุดการขุดจะใช้เขียงไม้เนื้ออ่อนรองหนัง แล้วกดปลายมีดให้เลื่อนไปเป็นจังหวะตามตัวลายแต่ละตัวโดยไม่ต้องยกมีด ลายตัวใดใหญ่มีส่วนโค้งกว้างก็ใช้มีดปลายแหลมเล็ก ถ้าแบบตอนใดต้องทำเป็นดอกลายต่างๆ หรือเดินเส้นประ ก็ใช้มุกตอกตามลักษณะของปากมุกแต่ละแบบ การตอกมุกจะใช้ค้อนตอกโดยมีเขียงไม้เนื้อแข็งรองหนัง หลังจากแกะฉลุส่วนภายในของตัวรูปสำเร็จ ก็ใช้มีดขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอก ก็จะได้รูปหนังแยกออกเป็นตัว ถ้าเป็นรูปหนังเชิดช่างจะใช้หมุดหรือเชือกหนังร้อยส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้เข้าตามส่วนต่างๆ ของรูป ซึ่งมีส่วนของมือ แขน และปาก เป็นต้น

         ขั้นลงสี การลงสีหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูปและประโยชน์การใช้สอย รูปหนังสำหรับเชิดมีความมุ่งหมายจะใช้แสดงนาฏกรรมเล่นแสง สี และเงา ต้องการความเด่นสะดุดตาช่างจึงเลือกใช้สีฉูดฉาด เอาสีที่ตัดกันมาใช้ร่วมกัน ใช้หลายสีและเป็นสีโปร่งแสง เช่น หมึกสี หรือที่ช่างแกะหนังเรียกว่า "สีซอง" หรือ "สีเยอรมัน" สีประเภทนี้เวลาใช้จะผสมด้วยสุรา น้ำร้อน หรือน้ำมะนาว ยกเว้นสีชมพูซึ่งผสมกับน้ำร้อนได้เพียงอย่างเดียว คุณสมบัติของสีชนิดนี้สามารถซึมติดอยู่ในเนื้อหนังและไม่ลอกง่ายๆ รูปหนังเชิดส่วนใหญ่จะใช้สีชนิดนี้ เว้นแต่ตัวตลกหรือรูปอื่นๆ ที่ต้องการให้ดูทึมๆ ก็ใช้สีทึบแสง มีสีน้ำมันเป็นอาทิ สำหรับหนังใหญ่หรือรูปจับถ้าจะลงสีหลายสีก็ใช้สีชนิดนี้

         ขั้นลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จ ก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการลงน้ำมันชักเงาหรือไม่ก็ได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นรูปหนังเชิดมักจะลงน้ำมันชักเงาด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำมันชักเงาช่วยขับให้ตัวหนังเป็นมันงาม เมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยยิ่งขึ้น อนึ่ง รูปหนังชนิดนี้จะถูกใช้เชิดบ่อยที่สุด การลงน้ำมันชักเงาจะช่วยรักษาสภาพหนังมิให้ชำรุดเร็วเกินไป การลงน้ำมันชักเงาทำได้ง่าย เพียงแค่เอารูปหนังวางราบบนกระดาษที่สะอาด ใช้พู่กันแบนชุบน้ำมันชักเงาทาบตามตัวหนังด้านละ 3 - 4 ครั้ง แล้ววางไว้ให้แห้งก็เสร็จการแกะรูปหนังเป็นงานที่ละเอียดประณีต มีขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ความรู้และทักษะหลายๆ ด้านประกอบกัน การแกะรูปแต่ละตัวๆ โดยเฉพาะรูปหนังใหญ่และรูปจับต้องใช้เวลาหลายวัน ช่างที่เป็นศิลปินต้องอาศัยความรักงาน ความพิถีพิถัน ทุ่มเทจิตใจในผลงานทั้งหมด เพื่อให้ผลงานมีคุณค่าทางศิลปะ ดูแล้วมีชีวิตวิญญาณ ฉะนั้นงานของศิลปินประเภทนี้จึงมีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาดทั่วไป รูปหนังที่วางหรือเร่จำหน่ายอยู่ในภาคใต้ส่วนใหญ่นั้นเป็นฝีมือของช่างแกะหนังที่มุ่งทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ อย่างไรก็ตามช่างประเภทหลังนี้เมื่อทำงานแกะหนังนานๆ ก็คงมีบางส่วนที่พัฒนาฝีมือถึงขั้นเป็นศิลปินได้

          
         เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนัง ประกอบด้วย
         ก. กระดานเขียง ต้องใช้สองแผ่น แผ่นหนึ่งเนื้อแข็ง อีกแผ่นหนึ่งเนื้ออ่อน เขียงเนื้อแข็งใช้สำหรับตอกลายด้วยตุ๊ดตู่นิยมใช้ไม้หยี ส่วนเขียงเนื้ออ่อนใช้รองมีดตัดหนัง นิยมใช้ไม้ทังเพราะเนื้อนิ่ม ปลายมีดตัดหนังจะไม่ค่อยหัก
         ข. มีดแกะ นิยมใช้มีดปลายเล็กเล่มหนึ่ง ปลายใหญ่เล่มหนึ่ง เพื่อให้เหมาะกับงาน และหยาบตามลำดับ
         ค. ตุ๊ดตู่ นิยมใช้เบอร์ 10 - 17 มีจำนวนหนึ่งชุด เพื่อใช้ตอกตามลวดลายให้เหมาะสมกับขนาดของลาย
         ง. ค้อน นิยมใช้ฆ้องช่างทอง เพราะน้ำหนักพอดีกับงานแกะ
         จ. เหล็กเขียนลาย เป็นเหล็กเนื้อแข็ง ปลายแหลม มีด้ามจับขนาดเท่ากับปากกา หรือดินสอ

         ฉ. สีผึ้ง มีไว้เพื่อชุบปลายมีด หรือปลายตุ๊ดตู่ เพื่อให้เกิดความลื่น ทำงานได้เร็วขึ้น



รูป เครื่องมือในการแกะ

สินค้ามาใหม่ล่าสุด
....
0003
....
  เริ่มต้นที่ 5000 USD
.......
0002
.......
  เริ่มต้นที่ 5000 USD
พระรามออกศึก
0001
พระรามออกศึก
  เริ่มต้นที่ 1000 USD
1

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...